ขอบคุณข้อมูลจาก SeedThemes ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ได้
1. แบบบ้านสุดๆ ทำคนละเว็บ ลง WordPress คนละตัว
มองเป็นคนละเว็บไซต์ตั้งแต่แรก
ข้อดี
- มันคนละเว็บ แยกเนื้อหาได้เต็มที่ ต่อให้ปริมาณหน้าไม่เท่ากัน ชื่อเมนูยาวไม่เท่ากัน ก็ไม่มีปัญหา แบนเนอร์จะทำแยกภาษาก็ง่าย
- กลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่ม บริหารสมาชิกคนละแบบได้ง่าย เช่น โปรโมชั่นของร้าน บางอย่างเหมาะกับส่งให้คนไทย บางอย่างเหมาะกับลูกค้าฝรั่ง ถ้าทำคนละเว็บ แยกระบบ mailing list ไว้ ก็บริหารง่าย
ข้อเสีย
- การสลับภาษา จะชี้ไปที่ “หน้าแรกของอีกภาษา” ไม่ใช่ “หน้านั้นๆ ในอีกภาษา” ดูไม่ค่อยเท่นัก
- การอัพเดทธีม/แก้ไขโครงสร้างเว็บ ถ้ามีการแก้ไขเยอะ บ่อย จะวุ่น เพราะมันต้องไล่แก้ 2 เว็บ
2. ใช้ WordPress Multisite เพื่อจะได้ลดปัญหาการอัพเดทธีม
แบบนี้คือลงเวิร์ดเพรส 1 ตัว สั่งให้รองรับหลายเว็บไซต์ (ในแต่ละภาษา) ใช้ธีมและปลั๊กอินร่วมกันได้เลย
ข้อดี
- เหมือนข้อ 1. เพราะมันทำแยกเว็บอยู่ดี แต่ใช้ธีมกับแกนหลักของ WordPress ร่วมกัน
- เลยทำให้มีข้อดีเพิ่มที่ว่า เวลาอัพเดทธีมและปลั๊กอินต่างๆ ไม่ต้องทำซ้ำซ้อน
ข้อเสีย
- ยังมีข้อเสียเรื่องการสลับภาษาที่ไม่เท่อยู่ ก็มันแยกเว็บกันนี่นา
- ส่วนการใช้ Multisite ข้อเสียก็คือ ปลั๊กอินจำนวนมากไม่รองรับ Multisite (มันเขียนยากกว่า) ถ้าเราปรับแต่งเยอะอาจจะไม่รอด
- กับ Multisite นั้นกินทรัพยากรมากกว่า และเวลาพัง พังทุกภาษา ถ้าคนเข้าเยอะมากๆ จัดการไม่ดี Server จะล่มง่ายกว่า
3. ใช้ปลั๊กอินช่วยในการแยกแต่ละภาษา
ข้อดี
- ระบบทุกอย่างรวมในเว็บเดียว เวลาแก้ แก้ที่เดียว อัพเดทระบบที่เดียว
- เว็บแต่ละหน้า สามารถคลิกไปอีกภาษาในเนื้อหาเดียวกันได้ (เท่ดี แต่สถิติที่เจอ คนไม่ค่อยคลิกตรงนี้เท่าไหร่)
- ถ้าเนื้อหามีทีมงานดูแลได้เท่ากันทุกภาษาอยู่แล้ว การมีปลั๊กอินจะช่วยให้บริหารง่ายขึ้น เช็คหน้าที่ขาดในภาษาอื่นๆ ง่ายขึ้น
ข้อเสีย
- ถ้าเนื้อหาแต่ละภาษาไม่เท่ากัน ดูแลเหนื่อยยากลำบากยิ่งนัก – ผมทำเว็บมาสิบกว่าปี แทบไม่เจอลูกค้าที่มีเนื้อหาแต่ละภาษาพร้อมและเท่ากันเลย ซึ่งทำให้การแสดงผลแต่ละจุดมีปัญหามาก เช่นมีแบนเนอร์ภาษาไทย ไม่มีภาษาอังกฤษและจีน, มีข่าวภาษาจีน แต่ไม่มีคนแปลเป็นไทยและอังกฤษ, ชื่อของเมนูที่ยาวไม่เท่ากัน (ทำให้กระทบดีไซน์) ฯลฯ ทำให้งานไม่จบ และคนดูแลถ้าไม่ดีพอ ก็จะปล่อยเนื้อหาแต่ละภาษาปนกันไปหมด
- เนื้อหาที่บอก ยังรวมไปถึงข้อมูลสินค้า / การจัดกลุ่มสมาชิก / แบบฟอร์ม / อีเมลอัตโนมัติที่ส่งให้สมาชิก และอีกมาก
- ปลั๊กอินหลายตัวไม่รองรับระบบหลายภาษา
- ระบบทำงานหนักกว่าแยกเว็บ เนื่องจากต้องคอยเช็คตลอดว่าขณะนั้นอยู่ในภาษาอะไร ทำให้มักจะแสดงผลช้ากว่า
ทีนี้ ถ้าเลือกข้อ 3. ควรใช้ปลั๊กอินอะไรดี?
ที่ดังๆ ผมเห็นอยู่ 3 ตัว คือ
3.1 WPML เป็นตัวเสียตังค์ แต่มาตรฐานที่สุด ปลั๊กอินต่างๆ รองรับเยอะมาก ถ้าต้องเลือกใช้ปลั๊กอิน ผมว่าใช้ตัวนี้ดีสุด
3.2 PolyLang เป็นตัวฟรีที่ดังสุดๆ ข้อเสียคือ ตัวฟรีตั้งค่า slug (url) ให้เหมือนกันในแต่ละภาษาไม่ได้ เช่น จะมีหน้า /en/about/ กับหน้า /th/about/ แบบนี้ไม่ได้ รวมถึงชื่อหมวดหมู่, แท็ก, หมวดสินค้า, ยี่ห้อ ฯลฯ ถ้าอยากตั้งเหมือนกันได้ต้องใช้ตัวเสียตังค์ ซึ่งแพงกว่าข้อ 3.1
3.3 qTranslate X เป็นตัวฟรีที่ดีพอควร สามารถตั้ง slug ชื่อเดียวกันได้ แต่ข้อเสียคือ “ห้ามยกเลิกระบบหลายภาษา” ถ้าเปลี่ยนใจทีหลัง ข้อมูลขยะจะอยู่เต็มเนื้อหาเลย >_<
ข้อ 3.2 กับ 3.3 มีปลั๊กอินรองรับน้อยกว่า 3.1 มาก ดังนั้นถ้าจะใช้ ควรเช็คก่อนว่าปลั๊กอินอื่นๆ ของเรารองรับหรือเปล่า
แล้วควรใช้ abc.com/th หรือ th.abc.com ดีกว่า?
ไม่ว่าเราจะเลือกข้อ 1,2 หรือ 3 เราสามารถตั้งค่าให้เป็น folder (abc.com/th) หรือเป็น subdomain (th.abc.com) ได้ทั้งนั้นนะครับ ส่วนการจะเลือกว่าแบบไหนดี ก็มักจะแล้วแต่แนวทางการบริหาร
- ตั้งเป็น Folder: เหมาะกับองค์กรขนาดเล็ก คนบริหารน้อย เพราะมักจะอยู่ server เดียวกัน ใช้ทรัพยากรร่วมกัน รับผิดชอบอันดับ Google ร่วมกัน
- ตั้งเป็น Subdomain: เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ คนบริหารแยกกัน ตั้งค่าอีเมลแยกกันได้ (เช่น admin@abc.com เป็นคนละบัญชีกับ admin@th.abc.com) แยก server กันได้ง่ายกว่า การติดอันดับอันดับ Google ไม่เกี่ยวกันมาก
SeedThemes เอง เลือก วิธีที่ 1 คือทำแยกเว็บไปเลย เพราะเรามองว่ากลุ่มเป้าหมายต่างกัน เนื้อหาต่างกัน และต้องการประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนชื่อโดเมน ใช้แบบ Subdomain เพราะต้องการแยก Server ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายครับ